3 ตำนานเพชรที่ยังคงเป็นปริศนา นำพาเรื่องลี้ลับสู่ผู้ครอบครอง!

Last updated: 20 ธ.ค. 2565  |  639 จำนวนผู้เข้าชม  | 

3 ตำนานเพชรที่ยังคงเป็นปริศนา นำพาเรื่องลี้ลับสู่ผู้ครอบครอง!

           “เพชร” นับว่าเป็นอัญมณีล้ำค่าที่หลายคนอยากมีไว้ครอบครอง แต่รู้หรือไม่คะว่าจิวเวลรี่ที่สวยงามสุดลักซ์ชูรีนี้ยังมาพร้อมกับตำนานเรื่องเล่าสุดลี้ลับที่ทุกวันนี้ยังหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้อีกด้วย บ้างก็ว่านี่คือคำสาป และบ้างกล่าวกันว่านี่คืออาถรรพ์ที่นำพาโศกนาฏกรรมมาสู่ผู้ครอบครอง โดยวันนี้เราขอนำเสนอ 3 ตำนานเพชรที่มีเบื้องหลังสุดลี้ลับและยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบันให้ทุกคนได้ติดตามกันค่ะ รับประกันเลยว่าใครที่ชอบเรื่องหลอนๆ ต้องไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน! 


1. The Black Orlov 

          ตามตำนานเล่ากันว่า “แบล็ก ออร์โลฟ” เป็นเพชรสีดำที่แต่เดิมมีขนาดใหญ่ถึง 195 กะรัต โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม Eye of Brahma Diamond หรือ ดวงตาแห่งพระพรหม ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาสนสถานแห่งหนึ่งในเมืองปุฑุเจรี ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย แต่เพชรเม็ดงามนี้กลับถูกนักบวชคนหนึ่งขโมยไปและวงล้อแห่งคำสาปสุดอาถรรพ์ก็เริ่มหมุนขึ้น เมื่อนักบวชผู้นี้ถูกพบในสภาพไร้วิญญาณจากการฆาตกรรม จนชาวเมืองเชื่อกันว่าใครก็ตามที่ครอบครองเพชรเม็ดนี้จะต้องประสบกับจุดจบหายนะเพราะคำสาปแห่งทวยเทพ 

          ต่อมาในปี 1932 ตัวแทนจำหน่ายเพชร J.W. Paris ได้รับซื้ออัญมณีชิ้นนี้ และก็ต้องพบกับปัญหาด้านธุรกิจ ทำให้เขาจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดลงมาจากตึกสูงระฟ้ากลางมหานครนิวยอร์ค และไม่รู้ว่าด้วยเหตุบังเอิญหรืออย่างใด เพราะต่อมาราชวงศ์ชั้นสูงของรัสเซียที่เคยครอบครองเพชรเม็ดนี้ทั้งสองพระองค์ต่างก็ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดออกจากตึกในขณะที่ครอบครองเพชรเม็ดนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คำสาปนี้ก็ได้ถูกทำลายลงในปี 1950 เมื่อ แบล็ก ออร์โลฟ ถูกซื้อไปโดย Charles F. Winson โดยเขาได้เจียระไนเพชรเม็ดนี้ให้มีขนาดเหลือเพียง 67.50 กะรัต เพื่อทำลายคำสาปดังกล่าวลง

2. The Hope Diamond

          หากพูดถึงหนึ่งในอัญมณีต้องคำสาปที่มีประวัติยาวนานมากที่สุด ต้องมีลิสต์ของ “Hope Diamond” อย่างแน่นอนโดยมีประวัติสุดอาถรรพ์มานานกว่า 350 ปี โดยเชื่อกันว่าใครก็ตามที่ครอบครองเพชรเม็ดนี้จะต้องพบกับจุดจบอันน่าสะพรึงกลัว โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระมเหสีมารี อ็องตัวแนตต์ คือผู้ถือครองเพชรสีฟ้าเม็ดนี้ ก่อนถูกเครื่องประหารกิโยตีนคร่าชีวิตในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่ในปี 1789 และไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่ครอบครอง Hope Diamond ต่างก็พบจุดจบที่เป็นโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกัน 

          ทั้งนี้จากหลักฐานแล้วพบว่าผู้ครอบครองอัญมณีชิ้นนี้คนสุดท้ายคือ Evalyn Walsh McLean ที่ซื้อเพชรต้องคำสาปนี้ และชีวิตของเธอก็ไม่สวยงามสักเท่าไหร่เพราะลูกชายของเธอเสียชีวิตตอนมีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น ส่วนลูกสาวของเธอเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดตอนอายุ 25 ปี นอกจากนี้ สามีสุดที่รักยังทิ้งเธอไปกับผู้หญิงอื่น ทำให้เธอตรอมใจตายในที่สุด โดยปัจจุบันเพชรเม็ดนี้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Smithsonian เพราะ Harry Winston ที่ซื้อ Hope Diamond ต่อจากผู้ดูแลทรัพย์สินของเอวาลีนไม่สามารถเก็บมันไว้อย่างส่วนตัวได้

3. The Sancy Diamond

          นอกจากรูปของผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกอย่างโมนาลิซ่าแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญไม่แพ้กันเมื่อเยือนพิพิธภัณฑ์ Louvre คงหนีไม่พ้นการได้เห็นเพชร “Sancy Diamond” ด้วยตัวเอง เพราะว่ากันว่าเพชรทรงลูกแพร์ขนาด 55.23 กะรัต สีเหลืองซีดนี้เป็นเพชรต้องคำสาป โดยตำนานเล่าไว้ว่าเพชรเม็ดนี้เป็นเพชรที่ทหารชาวฝรั่งเศสขโมยมาจากประเทศอินเดียในสมัยศตวรรษที่ 14 ก่อนที่กษัตริย์ผู้ครอบครองเพชรเม็ดนี้อย่าง Charles the Bold, พระเจ้าชาลส์ที่ 1 และ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส จะต้องพบกับจุดจบของชีวิตที่น่าสยดสยอง ตอกย้ำคำสาปที่ทำให้หลายคนหวาดผวา หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนมือเจ้าของหลายครั้งครา โดยในปี 1978 ครอบครัว Astor ผู้ที่ได้ครอบครองเพชรคนสุดท้ายได้ขายเพชร Sancy ให้กับพิพิธภัณฑ์ Louvre เป็นราคากว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงอยู่ที่ Louvre จนถึงปัจจุบัน

          เรียกได้ว่าแต่ละตำนานของอัญมณีต้องคำสาปนั้นล้วนลี้ลับและน่ากลัวอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวของตำนานเพชรทั้ง 3 เม็ดจะเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งโศกนาฏกรรม แต่แหวนหมั้นที่ยังคงได้รับความนิยมแบบไม่เสื่อมคลายก็ยังเป็นแหวนเพชรอยู่นะคะ สำหรับใครที่มีแผนจะแต่งงานลองมาเลือกแหวนเพชรกันที่ Pattana Gems ร้านเพชร ดิโอลด์สยามพลาซ่า ชั้น 1 ห้อง E112 ได้เลยนะคะ รับรองว่าราคามิตรภาพ บริการโดนใจ และไร้คำสาปอย่างแน่นอนค่ะ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้